ประเทศในฝันของฉัน

ประเทศในฝันของฉัน

๑) ประชาชนใช้การเรียกร้องทางอินเตอร์เน็ต ไม่เรียกร้องด้วยการประท้วง

ประชาชนของประเทศเรา ไม่เรียกร้องด้วยการประท้วง อันเป็นแฟชั่นฮิตที่ประเทศฝรั่งเขาว่าเจริญแล้วนิยมทำกัน ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายให้คนทั่วไป เพื่อผลประโยชน์ของคนอีกกลุ่ม เหตุที่ประชาชนของเรา เรียกร้องผ่านอินเตอร์เน็ต เพราะเรามีเครือข่ายอินเตอร์เน็ตตำบล และพระราชาของเราเข้ามาอ่าน พร้อมทั้งนำข้อมูลไปใช้ในการปกครองจริงๆ เราจึงไม่ต้องไปเดินขบวนประท้วงกันเลย ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างสงบ

๒) ประชาชนร่วมใจทำสิ่งที่เขาอยากได้ แทนการเรียกร้องสั่งใช้ผู้นำ

ประชาชนของประเทศเรา รู้หน้าที่ของตน ถ้าท้องถิ่นของเขาอยากได้อะไร พวกเขาจะร่วมกันคิด ร่วมกันประชุม เมื่อสุดปัญญา พวกเขาจะใช้เครื่องมือสื่อสารที่พวกเธอใช้กันอย่างไร้สาระ เช่น มือถือที่พวกเธอโทรคุยเรื่องไร้สาระกัน พวกเราใช้มาปรึกษาเรื่องการพัฒนาท้องถิ่น, อินเตอร์เน็ตที่พวกเธอใช้เล่นเกมออนไลน์กัน พวกเราใช้มาปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่รัฐบาลจัดไว้ เราจึงได้คำตอบดีๆ จากหลายแหล่ง เมื่อเราคิดดีแล้ว ร่วมใจกันเป็นหนึ่งแล้ว จึงเขียนโครงการไป ว่าเราขาดแคลนอะไร ทางรัฐบาลมาตรวจดูเห็นความพร้อมของเรา ก็จะสนับสนุนส่วนที่ขาดไป ให้ทีหลัง หลังจากที่เราใช้ปัญญาแล้ว เงินจึงตามมา ไม่ใช่ฟาดเงินให้ แต่ไม่ให้ปัญญา จนผลาญเงินกันหมดจนเป็นหนี้พร้อมกันทั้งหมู่บ้านเหมือนประเทศของเธอ ประชาชนของเรา รู้หน้าที่ๆ จะดูแลประเทศร่วมกัน พระราชาจึงไม่เหนื่อย รัฐบาลจึงไม่ถูกสั่งใช้ ไม่ถูกเรียกร้องให้ทำงาน

๓) พระราชาสนับสนุนปัญญาก่อนเงินตรา สังคมจึงเป็นสังคมอุดมปัญญา

พระราชาของเรา มีแหล่งให้ปัญญามากมายแก่ประชาชนของเรา เช่น จัดให้มีระบบอินเตอร์เน็ตตำบล ที่มีแต่เว็บไซต์ประเทืองปัญญาเท่านั้น ในเว็บนี้ มีโปรแกรมการทำงานผ่านระบบออนไลน์ ทุกตำบลในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต สามารถปรึกษาหารือ และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ ทั้งยังสามารถขอคำปรึกษาจากทีมงานผู้ชำนาญการภาครัฐบาลที่คอยนั่งหน้าจอตอบปัญหาให้ทั้งวันอีกด้วย เราเน้นการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีที่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้ประชาชนจำนวนมาก จึงบริการคนได้ทั่วถึง และมุ่งเน้นการเสียกำลังไพล่พลไปในด้านการสร้างปัญญา แล้วเน้นให้ตำบลต่างๆ ใช้แรงงานของตนเอง พึ่งตนเอง พัฒนาสังคมของตนเอง รัฐบาลจะสนับสนุนส่วนขาดให้ตามจำเป็นเท่านั้น เรามีการเขียนโครงการที่จะทำ มีที่ปรึกษาโครงการ และตรวจความพร้อมของการเริ่มโครงการ ก่อนดำเนินการทุกโครงการ ทำให้มีความเสี่ยงน้อย มีผลสำเร็จสูง

๔) พระราชาสนับสนุนปัญญามากกว่าความรู้ จึงมีแหล่งสร้างภูมิปัญญา

นอกจากพระราชาจะมีหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาแก่ประชาชน ผ่านเครื่องมือสื่อสารอิเล็คโทรนิคมากมายแล้ว ยังสนับสนุนให้ทุกตำบลมีแหล่งภูมิปัญญาของตน เช่น มุมหนังสือเล็กๆ ที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา, ทีวีสาธารณะที่ไม่มีโฆษณา ที่มีแต่รายการประเทืองปัญญา, ลานเสวนาธรรมและปฏิบัติธรรม, ลานแสดงธรรมแสดงวิสัยทัศน์ ทำให้เกิดปราชญ์ชาวบ้านขึ้นมากมาย พระราชาของเรา สนับสนุนปราชญ์เหล่านี้ ด้วยรางวัลที่ไม่มากนัก เช่น พระราชทานเงินรางวัลพอเป็นพิธี แต่ที่มากกว่านั้น คือ การพระราชทานชื่อสมญานามพิเศษ ให้เป็นเกียรติ์ประวัติ ชื่อของใครได้รับพระราชทาน สามารถนำไปตั้งเป็นนามสกุลใหม่ได้ ซึ่งจะกลายเป็นนามสกุลพระราชทานด้วย บางท่านเป็นหญิง มีนามสกุลสามีที่ไม่งาม เช่น กุดด้วน ก็เปลี่ยนชื่อตามพระราชทานเป็น “เกษตราจารย์” จากผลงานด้านการสอนการเกษตรให้คนในตำบล หญิงคนนั้น จึงได้ชื่อว่า เกษตราจารย์ นามสกุล เกษตราจารย์ และเป็นต้นตระกูลเกษตราจารย์ นับแต่นั้นมา นับว่าเป็นเกียรติ์ทีเดียว เพราะผู้หญิงนั้น อยากใช้นามสกุลตัวเองบ้าง บ้างก็อยากมีชื่อเสียงให้วงศ์ตระกูล พระราชาทรงมีกุศโลบายอันแยบยลหลากหลายวิธีที่จะสร้าง “สังคมอุดมปัญญา” ขึ้นมา

๕) พระราชาชอบเลี้ยงดูนักปราชญ์ที่แท้ โดยไม่สนใจเปลือกนอก

พระราชาเชื่อว่า อำนาจที่แท้จริงมาจากประชาชน และประชาชนเมื่อได้อำนาจไปแล้ว ต้องมีความรับผิดชอบ มีหน้าที่ดูแลท้องถิ่นของตน แต่ประชาชนเหล่านั้นมีแต่แรงงาน ขาดซึ่งปัญญา ขอเพียงมีปัญญา พวกเขาจะกลายเป็นแรงงานฝีมือระดับภูมิปัญญาที่จะสร้างและพัฒนาท้องถิ่นของตนได้อย่างมากมาย โดยที่พระองค์ไม่ต้องเหนื่อยเลย ดังนั้น พระองค์จึงทรงเลี้ยงดูนักปราชญ์ ศิลปินมากมาย ด้วยวิธีการต่างๆ ที่ไม่ต้องเสียเงินเดือนระยะยาว เพราะทรงเลี้ยงเหมือนเลี้ยงเด็กฝรั่ง ไม่ต้องอุ้มหรือโอ๋แบบเด็กไทยไปตลอดเวลา นักปราชญ์เหล่านั้น ได้รับพระราชทานการช่วยเหลือแต่เพียงเล็กน้อยในส่วนที่ติดขัดเท่านั้นจริงๆ ที่เหลือพวกเขามีปัญญาจึงยืนได้อย่างมั่นคงด้วยตนเอง ทั้งยังเป็นที่พึ่งพาของประชาชนในท้องถิ่นต่อไป นอกจากนี้ พระราชาไม่นิยมให้ผู้มีอิทธิพลเป็นผู้ครอบงำผู้คนในท้องถิ่นให้ก้มจำนนจำยอมอย่างขลาดเขลา พระองค์ทรงกำราบเหล่าผู้มีอิทธิพลด้วยบารมีของพระองค์จนหมด แล้วใช้ผลบุญที่พระองค์มีสนับสนุนผู้มีปัญญาทั้งหลายให้ได้เป็นศูนย์กลางของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง พระราชาไม่นิยมคนที่พูดมาก มักเยอยอและเอาอกเอาใจอย่างขาดปัญญา พระองค์ยอมให้คนตำหนิต่อพระพักตร์ได้อย่างไม่สะทกสะท้าน พระองค์ไม่ชอบคนที่ดีแต่เปลือก นักวิชาการที่ไร้ปัญญาแก้ปัญญาให้ประเทศ ดีแต่แสดงประวัติงามให้คนชื่นชม พระองค์ดูคนที่ผลงาน ไม่นิยมพวกจบดีกรีสูง ดีแต่พูดแต่แก้ปัญหาไม่ได้จริง พระองค์สนใจแม้กระทั่งคนชราในชนบทที่ไม่จบแม้แต่ ป.๔ เพียงเพราะเขามีปัญญามีชีวิตอยู่ได้อย่างสงบสุขเรียบง่าย

๖) พระราชาทรงขับเคลื่อนที่จิตใจ ทรงมุ่งเน้นให้ใช้ปัญญามากกว่ากำลังอำนาจ

พระราชาทรงมุ่งเน้นให้สร้างศรัทธาร่วม ก่อนสร้างวัตถุ ทรงเคยตรวจพบว่าวัดบางวัด มีพระไม่กี่รูปทำงานสร้างวัดกัน แต่ไม่เคยดึงศรัทธาประชาชนมาร่วมทำงานด้วย บางวัดก็สร้างศรัทธาที่ผิดด้วยวัตถุของขลัง ขายแลกเงินมาสร้างวัด แต่ไม่มีจุดมุ่งหมายร่วมที่จะใช้วัดเป็นที่สงบจิตใจ พวกเขาสร้างวัดเพราะอยากได้บุญและของขลัง เมื่อสร้างแล้วก็หายไปเลย ไม่มีมาทำสมาธิที่วัดอีก ดังนั้น วัดใหม่สร้างไว้ไม่นานก็เงียบเหงาแล้วก็ค่อยๆ ร้างไป เพราะขาดศรัทธา พระองค์เน้นเสมอว่าต้องสร้างศรัทธาร่วม ก่อนสร้างวัตถุ คือ การสร้างความร่วมใจที่จะมุ่งมั่น เชื่อในสิ่งที่ทำ และเต็มพร้อมที่จะทำร่วมกันในอนาคต ไม่ใช่เพียงงานจบก็เลิกกันไป ดังนั้น วัดที่พระองค์ทรงสนับสนุนให้สร้าง จึงมีกิจกรรมเจริญภาวนาอย่างต่อเนื่อง และยืนยาว ไม่ใช่วัดที่สร้างไว้แล้วก็ร้างไป ไร้กิจกรรมใดๆ ก็หาไม่ นอกจากนี้ ยังไม่ทรงสนับสนุนให้ใช้เงิน กำลัง หรืออำนาจ ในการระดมคนมาร่วมงานด้วย เพราะสิ่งเหล่านั้น จะสูญสิ้นลงเมื่อเราสิ้นเงิน, กำลังและอำนาจ ทรงให้ประชาชนที่ยากจนรอบวัด รู้สึกมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของวัด พวกเขาจึงเข้าวัดสม่ำเสมอ และพระก็มีปัจจัยพออยู่พอกินได้ระยะยาวเพราะชาวบ้านที่ยากจนผลัดกันอุดหนุนอย่างสม่ำเสมอนี้ วัดจึงไม่ร้าง และมีอายุยืนยาวตราบเท่าที่ลูกหลานยังอยู่ 

๗) ประชาชนเปลี่ยนวิธีคิด มามุ่งเน้นการพัฒนาตนมากกว่าวิจารณ์ผู้อื่น

ประชาชนไม่นิยมการรับสารประเภทเรื่อง Gossip ดารา ไม่นิยมวิจารณ์หรือนินทาผู้อื่น แต่มักมองข้อเสียตนเอง เพื่อนำไปพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น ละครน้ำเน่าที่มีดาวร้ายเรียกความนิยมด้วยการด่าทออย่างคนชั้นต่ำจึงหมดไป เป็นละครการบำเพ็ญเพียรและการเสียสละอย่างยิ่งยวดของบุคคลตัวอย่างต่างๆ เรียกความซาบซึ้งใจ น้ำตาแห่งความปีติ และกำลังใจให้ประชาชนก้าวไปข้างหน้า มากกว่าที่จะระบายความเคียดแค้นชิงชังกันด้วยการดูละครที่เต็มไปด้วยตัวอิจฉาที่จงเกลียดจงชัง ด่าทอกันไม่เว้นวัน หนังสือประเภทดาราสิ้นคิด เอาเรื่องของตัวเองมาเล่าไร้สาระหาแก่นสารไม่ได้ก็ขายไม่ออก เพราะประชาชนฉลาดขึ้น เขาจะเลือกซื้อของเป็น ไม่สนใจโฆษณา ของดี เขียนดี จึงขายออก ของไร้สาระ ระบายกิเลสกาม เริ่มไม่มีใครเอา เพราะทำให้จิตใจว้าวุ่นไม่พัฒนา และนำพาไปสู่ความวิบัติ ประชาชนนิยมหนังสือประเภท How to แม้แต่กับเรื่องเล็กๆ ในบ้าน เช่น จะใช้ถุงพลาสติกรีไซเคิลอย่างไร แล้วนำมาตกแต่งบ้าน ทำของใช้ใหม่ๆ เวลาว่าง จึงไม่ได้ใช้เพื่อการพนัน, เหล้ายา, นินทา ฯลฯ แต่เต็มไปด้วยงานอดิเรกสร้างสรรค์

๘) ประชาชนใช้เวลาว่างถูกวิธี อบายมุขเริ่มลดลง โดยไม่ต้องใช้กำลังปราบ

ประชาชนได้รับข่าวสารทางสื่อทีวีสาธารณะที่ไม่มีโฆษณายั่วยุ พวกเขาเรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์แบบใหม่ๆ ที่ไม่ต้องข้องเกี่ยวไปกับอบายมุข เมื่อพวกเราว่างและเหงา ไม่ต้องพึ่งพาเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด การพนัน หญิงบริการ การทะเลาะวิวาท ฯลฯ พวกเขามุ่งไปออกกำลังกายร่วมกัน แข่งกันได้รางวัลทุกปี ทุกฤดูกาล ไม่ยิ่งใหญ่แบบบอลโลก เราไม่ดูบอล แต่เราเล่นฟุตบอล เพราะเราได้รางวัลสนุกในชุมชนของเรา และได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากพระราชา ทรงพระราชทานของรางวัลทั่วถึงทุกหมู่บ้านทีเดียว แน่ละ ใครๆ ก็อยากได้รางวัลพระราชทานนั้น พวกเขามีการแข่งขันมากมาย ผู้หญิงแข่งขันทำอาหาร, ถักไหมพรหม, ปั้นหม้อ, จัดดอกไม้, รำไทย, ทำบายศรี, ตีขิม เล่นดนตรีไทย ที่ไพเราะเย็นใจไม่รุนแรง ผู้ชายแข่งขันกีฬา, มวยไทย, รำดาบ, ประกวดผลผลิตการเกษตร, แข่งวิ่งควาย, รำไทย, ตีระนาด เล่นดนตรีไทย ฯลฯ พระราชาเสด็จมาทอดพระเนตรบางครั้ง บางครั้งทรงจ้างให้ไปแสดงในงานพิธีสำคัญ ประชาชนได้รับการสนับสนุนอย่างนี้ จึงใช้เวลาว่างอย่างเต็มที่กับกิจกรรมเหล่านี้ ละทิ้งอบายมุข

๙) วัตถุฟุ่มเฟือยลด กิจกรรมสร้างสรรค์เพิ่ม ความสุขมาจากการสร้างไม่ใช่เสพ

พวกเราลืมชีวิตแบบวัตถุนิยม ที่นิยมแต่วัตถุ และบริโภคนิยมที่นิยมแต่ซื้อมาบริโภคไปแล้ว เพราะพวกเรานิยมการทำกิจกรรมที่มีความสุข แทนการสร้างวัตถุและบริโภควัตถุต่างๆ ทำให้ขยะลดลง การทำลายทรัพยากรธรรมชาติลดลง การผลิตที่ต้องทุ่มแรงงานหนักลดลง พวกเราอาจไม่มีเงินมากเหมือนก่อน พวกเราอาจไม่มีวัตถุมากเหมือนก่อน แต่พวกเรามีปัจจัยสี่ที่ได้รับการแจกจ่ายทั่วถึงพอเพียงไม่อดตาย และที่สำคัญพวกเรามีเวลามากขึ้น ที่จะใช้ไปในกิจกรรมด้านศิลปะวิทยาการต่างๆ พวกเราเรียนรู้ในการพัฒนาปัญญาจากนอกระบบ นอกโรงเรียน เราเรียนรู้ร่วมกัน ต่างชนชั้นต่างอาชีพ ต่างวัย ทำให้พวกเราเข้ากันได้ ช่องว่างระหว่างวัย, อาชีพ, ชนชั้นลดลงเพราะโรงเรียน “ฟ้าดิน” คำว่าโรงเรียนฟ้าดิน ก็คือ การเรียนรู้นอกห้องเรียน พวกเราเชื่อว่าฟ้าดินคือธรรมชาติ เป็นธรรมะ เป็นแหล่งความรู้ร่วมกันที่ดีที่สุด ราคาต้นทุนต่ำที่สุด และสอดคล้องกับความแตกต่างแต่ละท้องถิ่นมากที่สุด จึงเหมาะสมกับทุกคนแม้แต่ละท้องถิ่นจะแตกต่างกัน ก็ไม่ต้องทนเรียนแบบเรียนเดียวกัน เพราะเราเรียนรู้ท้องถิ่นเราเอง โดยที่เราไม่ได้ทำลายระบบการเรียนในห้องเรียนแบบเดิม ก็ยังคงอนุรักษ์ไว้ แบบฝรั่งที่เราเคยชื่นชมค่อยๆ ลดบทบาทลง เพราะโรงเรียน “ฟ้าดิน” ให้ปัญญาของเราได้มากกว่าท้องอับทึบนั้น พวกเราไม่รู้อะไรมาก ท่องตารางธาตุไม่ได้ ท่องวงศ์สิ่งมีชีวิตไม่ได้ ท่องสูตรคณิตศาสตร์ไม่ได้ ก็เราเป็นชาวนาเสียส่วนใหญ่นี่นา แต่พวกเรารู้ว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร ให้สงบสุขแท้จริง

๑๐) มีสถานธรรมเกิดขึ้นง่ายๆ ถูกๆ ใกล้บ้าน และมีกฎหมายอนุญาตให้ไป

ประเทศของเราบังคับว่าทุกสัปดาห์ แต่ละองค์กรต้องพาพนักงานไปสถานธรรมเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด ดังนั้น พวกเราทำงานหกวัน พักวันเดียวเพื่อชำระสะสางงานบ้าน ก็จริง แต่วันที่หกของการทำงาน มันก็คือการพักผ่อนของเรา บริษัทต้องออกค่ารถนำพาเราไปยังสถานปฏิบัติธรรมใกล้ๆ เพื่อประหยัดทั้งวัน เรามีกิจกรรมร่วมกันทั้งบริษัท จึงมีความรู้สึกดีต่อกัน ความเครียดลดลง และพระหรืออาจารย์ก็สอนให้เราพอใจที่เรามีอยู่ พวกเราจึงมีอัตราการลาออกน้อยลง ฐานเงินเดือนที่เคยปรับใหม่ ก็ไม่ต้องปรับมาก ต้นทุนบริษัทก็ลดลง ประสิทธิภาพการทำงานของพวกเราดีขึ้น เพราะการได้พักผ่อนนี่เอง การพักผ่อนที่สถานปฏิบัติธรรมนั้น ทำได้ทั้งวัน โดยพวกเราไม่ต้องเข้าบ้าน ไม่ต้องรับผิดชอบที่บ้าน และที่ทำงาน บริษัทรับผิดชอบการเดินทางและอาหารให้เรา เราไปนั่งสมาธิ (แอบหลับบ้างเพราะเพลียงาน) นอนสมาธิ (หลับจนหายเพลียเลย) และเดินจงกลม (สะลึมสะลือ) รำสมาธิ (เพลินดีมีเพลงเพราะด้วย) แล้วก็นั่งฟังธรรมเทศนานิดหน่อย เรียกง่ายๆ ว่าไปเสวยสุข กินๆ นอนๆ นั่งๆ ไม่ต้องทำอะไร สถานธรรม ทางรัฐบาลก็ออกกฎหมายว่า ต้องมีความสงบร่มรื่น ทั้งยังช่วยสนับสนุนเงินทุนทำให้เราเหมือนได้ไปพักริมชายป่า ฟื้นฟูสภาพจิตใจของเราทุกสัปดาห์ ทั้งยังได้ทำบุญด้วย

๑๑) พระราชาให้สังคายนาระเบียบสงฆ์ใหม่ ให้ถูกต้องตรงตามคำสอน

พระราชาใช้วิธี “กรรมสนองกรรม” ท่านจะสนับสนุนแต่สถานธรรมหรือวัดที่ถูกต้องตรงตามคำสอนเท่านั้น ทั้งยังให้ปัญญาแก่ผู้คนให้รู้จักพิจารณาว่าที่ใดที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง และไม่สมควรไปสนับสนุนหรือสมควรสนับสนุน ไม่นานนัก พวกพระสงฆ์ที่ทำไม่ดีก็เริ่มอยู่ไม่ได้ พวกเขาพยายามจะประท้วง และใช้อำนาจจัดการ แต่กรรมได้จัดการพวกเขาก่อน พระสงฆ์ที่ไม่ดี ล้วนรับกรรมอยู่ไม่ได้ไปตามๆ กัน แล้วในที่สุด พุทธศาสนาก็ถูกจัดระเบียบใหม่ พระราชาทรงรู้ด้วยญาณว่ามีพระพุฒาจารย์โต เคยเกิดเป็นพระลามะ และจะมาช่วยสะสางกิจพุทธศาสนา และปฐมองค์ทะไลลามะอีกองค์ได้มาเกิดใหม่ในประเทศของพระองค์ พระองค์ได้จัดระเบียบใหม่ ด้วยการสนับสนุนพระที่ดีเหล่านี้ขึ้นมามีอำนาจ แล้วทรงไม่สนใจไยดีกับพระที่เลวๆ แต่ทำตัวให้คนนับถือเพราะดีแต่เปลือกเหล่านั้น จนในที่สุด พระสงฆ์ที่เลวๆ ก็แพ้ภัยตนเอง มีอันเป็นไปนานัปการ สถานธรรมและวัด จึงถูกจัดระเบียบใหม่ ต้องมีความสงบร่มรื่นสัปปายะ ไม่จำเป็นต้องอลังการยิ่งใหญ่หรือสิ้นเปลืองแต่อย่างใด มีความเรียบง่ายประหยัด แต่มีทีมงานพร้อมรับผู้คน หลังจากนั้น ผู้คนเข้าวัดเพราะไปหาความสงบร่มเย็นกายใจ ได้ความสงบได้พักใจหายเครียด ไม่ได้เข้าวัดเพราะแสวงหาความรื่นเริงและงานพิธีดังๆ เหมือนแต่กาลก่อน

๑๒) พระราชาทรงจัดระเบียบการสื่อสารใหม่ เพราะเป็นภัยต่อวัฒนธรรม

พระราชาทรงแต่งตั้งผู้มีปัญญาและนักปราชญ์มากมายซึ่งไม่เคยได้รับอำนาจมาก่อน เพราะทรราชครองเมืองมานาน เมื่อภัยพิบัติผ่านไป ทรราชและคนเลวล้วนตายหมด พระองค์ทรงรอเวลานั้น แล้วจึงแต่งตั้งคนดีที่เก็บซ่อนตัวอยู่ทั้งหลายมารับใช้ประชาชนคนดี ประชาชนคนดีไม่มีปัญญาพอที่จะรู้ว่าผู้มีปัญญาที่ไม่เด่นไม่ดังคือใครบ้าง พวกเขาเคยหลงนับถือคนเลวบ้าง นับถือคนมีอำนาจบ้าง ประชาชนเหล่านั้นที่ลุ่มหลงก็ล้วนตายตกไปตามกับทรราชที่พวกเขานับถือด้วย ดังนั้น พระราชาจึงทรงคิดสร้างวัฒนธรรมที่ดีงามใหม่ โดยการสนับสนุน “คนดี” เป็นต้นแบบของวัฒนธรรม พระองค์คิดว่า วัฒนธรรมนั้นเกิดจากการกระทำของคน เมื่อสนับสนุนคนดีให้เป็นที่ประจักษ์แล้ว ประชาชนย่อมทำตาม นั่นแหละคือจุดกำเนิดของวัฒนธรรมที่ดีงาม ไม่ใช่วัฒนธรรมมาร ที่มีแต่ดารา, นักการเมือง, ลูกนักธุรกิจรวยๆ ที่ดีแต่เปลือก แต่ไม่ดีจริง เบื้องหลังฟอนเฟะ ดังนั้น รายการทีวี จึงมักมีบุคคลธรรมดามาปรากฏ พร้อมด้วยวีรกรรมที่น่าชื่นชมเป็นตัวอย่างมากมาย พวกเขานำเสนอหน้าตาเพียงนิดหน่อยเพราะไม่อยากดัง ให้พอเป็นที่รู้กันว่ามีตัวตนจริง จากนั้นก็นำเรื่องราวไปสร้างเป็นการ์ตูนให้เด็กดูฟรี เป็นหนังละครบ้าง พระราชาทรงให้ความสำคัญกับการสื่อสารมาก เพราะเป็นจุดกำเนิดวัฒนธรรม สังคมจะตกต่ำเป็นสังคมมารอสูรเหมือนเมื่อก่อนภัยพิบัติ หรือจะเป็นสังคมอุดมปัญญาก็ตรงนี้

๑๓) พระราชาทรงชำระประวัติศาสตร์ ทรงให้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยปัจจุบัน

พระราชาทรงมีบารมีมากที่จะกล่าวคำโน้มน้าวจิตใจประชาชน ให้เกิดความรู้สึกตื่นตัวและฮึกเหิมที่จะสร้างประวัติศาสตร์ให้ตนเอง เป็นผู้หนึ่งที่จะถูกจารึกคุณงามความดีไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติ พระราชาทรงจัดให้มีการสร้างประวัติศาสตร์ และจารึกชื่อบุคคลที่สร้างคุณงามความดีทั้งหลายไว้ในพระสุพรรณบัฏทองคำ แล้วทรงพระราชทานเพลิงศพแล้วบรรจุอัฐิ ของบุคคลที่จงรักภักดีใน “เจดีย์คู่ฟ้าเคียงดิน” ทรงย้ำว่าบรรพบุรุษทั้งหลายในอดีตที่สร้างคุณงามความดีนี้ สละเลือดเนื้อและชีวิตเป็นผืนดิน จะต้องจารึกชื่อคู่ฟ้าดิน และมีการศึกษาเล่าเรียนให้ชัดเจน เพื่อเป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตแก่ประชาชน ทรงเห็นว่าประชาชนไม่มีแบบอย่างที่ดี จึงไม่รู้หน้าที่ของตนว่าประชาชนที่ดีควรทำอะไร ดังนั้น จึงจัดให้มีการชำระและจารึกประวัติศาสตร์ขึ้น ประชาชนมากมาย อยากมีชื่อในประวัติศาสตร์ร่วมกับพระราชา และได้รับการบรรจุอัฐิในเจดีย์คู่ฟ้าเคียงดิน เป็นที่สถิตของดวงวิญญาณคนดีที่จะดูแลประเทศนี้ต่อไป พวกเขาจึงเร่งสร้างคุณงามความดีให้เป็นที่ประจักษ์ ประเทศจึงเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะใครๆ ก็อยากสร้างประวัติศาสตร์ให้ตนเอง ไม่อยากเกิดมาเป็นโมฆะบุรุษ ตายเปล่าไปชาติหนึ่งเท่านั้น

๑๔) พระราชาทรงให้พระโพธิสัตว์บำเพ็ญห่มขาว เพื่อความบริสุทธิ์ของศาสนา

เนื่องจากพระโพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญเพียรมาก แต่ยังนิพพานไม่ได้ในชาตินี้ ดังนั้น แม้พระโพธิสัตว์จะมีบุญบารมีมาก สร้างผลงานมาก มีบริวารเก่านับถือมาก แต่ก็ทำสิ่งผิดพลาดได้มาก ทำให้พระพุทธศาสนาเป็นไปในแบบของตนแทนที่จะเป็นแบบของพระพุทธเจ้าสมณโคดม พระองค์จึงทรงพระราชทาน “ผ้าขาว” สำหรับห่มเป็น “พระโพธิสัตว์” เพื่อแยกออกจากพระปกติที่เป็นสาวกภูมิ ดังนั้น ผู้คนจึงมีความเข้าใจ ไม่สับสน ไม่ลบหลู่พระโพธิสัตว์ ทั้งพระโพธิสัตว์ยังสามารถประกอบกิจตามที่ตนปรารถนาได้เต็มที่ มีคนยอมรับนับถืออีกด้วย นอกจากนี้ พระองค์ทรงล่วงรู้ด้วยญาณว่าพระโพธิสัตว์บางองค์บารมีน้อยยังมีกิเลส บ้างทำผิดข้อเมถุนธรรม แต่ยังปรารถนาชีวิตบรรพชิต จึงทรงให้สึกจากผ้าเหลือง เพื่อครองผ้าขาว และจะทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ให้เอง ประชาชนจึงเข้าใจและยอมรับในบางกลุ่ม แต่บางกลุ่มก็ไม่ยอมรับว่าพระโพธิสัตว์แบบนี้คือบรรพชิต ก็เป็นธรรมดาที่พระโพธิสัตว์จะมีทั้งบริวารและศัตรู พระองค์ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ อนึ่ง แม้พระโพธิสัตว์กวนอิมก็ห่มขาว แม้ครูบาขาวปี ก็ทรงผ้าขาว ผู้คนก็ยอมรับว่าท่านเป็นพระเหมือนกัน ดังนั้น จึงทรงแก้ไขหลายกรณีที่เป็นข้อพิพาททางพุทธศาสนาได้ เช่น กรณีธรรมกาย, ท่านยันตระ, ท่านโพธิรักษ์, ท่านอาจารย์กู้ ฯลฯ นอกจากนี้ ทรงให้เกิดบรรพชิตที่บวชได้สามแบบ คือ การห่มขาวชั่วคราวถือศีลแปดและบวชชีตลอดชีพ, การห่มขาวถาวรที่เรียกว่า “บำเพ็ญโพธิญาณ” และการบวชห่มเหลืองปกติ ทั้งนี้ เป็นไปโดยสมัครใจ คือ ทรงมีอุบายชาญฉลาดที่ทำให้ไม่มีการต่อต้าน ทรงจัดทำผ้าขาวแบบเดียวกันกับผ้าเหลืองอย่างดี เพื่อพระราชทานเฉพาะแก่พระโพธิสัตว์ ทั้งยังทรงให้การเชิดชูคุณธรรมและวิทยฐานะของพระโพธิสัตว์เหล่านั้นให้เป็นที่ยอมรับอีกด้วย

๑๕) พระราชาทรงสนับสนุนให้เปิดตำหนักเทพ เหมือนวรรณะพราหมณ์

เนื่องจากในอดีตมีวรรณะพราหมณ์ ทำให้ประชาชนมีการบำเพ็ญธรรม ปฏิบัติธรรมในครัวเรือนมากมาย และมีความพร้อมก่อนที่จะมาบวชในพระพุทธศาสนา แต่ปัจจุบันมีการกดขี่ระหว่างชนชั้น ระบบชนชั้นจึงถูกทำลายไป ดังนั้น การบำเพ็ญธรรมในครัวเรือน ในเพศฆราวาสจึงหมดไป แต่ละท่านมีโอกาสปฏิบัติธรรมก็เมื่อตอนเข้าวัดเท่านั้น คิดว่าต้องเข้าวัดจึงได้ปฏิบัติธรรม ไม่ได้เตรียมตัว ไม่เตรียมความพร้อมตนเองให้เป็นบรรพชิตก่อนบวชในพระศาสนา ทำให้พระศาสนาถูกบิดเบือนและบกพร่องในธรรมวินัยอย่างมาก จึงทรงวินิจฉัยปัญหาแล้วแก้ด้วยการสนับสนุนการบำเพ็ญเพียรแบบตำหนักเทพเซียน แต่จะทรงมุ่งเน้นให้เป็นไปในรูปการบำเพ็ญเพียรอย่างปกติ มากกว่าการทรงเจ้าเพื่อเอาอามิสสินจ้าง กล่าวคือ ผู้ตั้งตำหนักเทพเซียน สามารถใช้มุมหนึ่งของบ้านตั้งโต๊ะหมู่บูชา พระพุทธเจ้าเป็นที่สุด และมีเทพเซียนที่ตนนับถือรองลงมา แล้วทำการช่วยเหลือผู้คนในละแวกบ้านด้วยวิธีการต่างๆ ตามแต่จะสามารถบำเพ็ญเพียร เช่น การรักษาคนด้วยพลังจิตที่ไม่ผิดกฎหมาย, การให้คำแนะนำให้กำลังใจในการดำเนินชีวิตด้วยการดูดวงทางใน, การรวบรวมใจคนในการทำพิธีต่างๆ เพื่อสนับสนุนพุทธศาสนา เช่น บวงสรวงเทพที่ตนนับถือเพื่อเรียกขวัญกำลังใจและรวมใจคนในการร่วมกันสร้างวัด เป็นต้น เป็นเหตุให้ผู้คนที่ต้องการบำเพ็ญเพียรทั้งหลาย สามารถใช้ชีวิตเป็นฆราวาสปกติไป พร้อมกับบำเพ็ญธรรมไปด้วยได้ในครัวเรือน จึงมีความพร้อมมากที่จะเป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนาในอนาคต คนเหล่านี้ เป็นเหมือนวรรณะพราหมณ์ในโบราณนั่นเอง แต่ปัจจุบันไม่มีวรรณะนี้อีก จึงต้องเป็นแบบนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการปฏิบัติธรรมในครัวเรือนได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังทรงมีตำหนักธิดาเทพของพระองค์เองด้วย คือ ได้รับเลี้ยงดูแลเด็กหญิงพรหมจรรย์ที่ประสงค์จะไม่มีครัวเรือน และจะปฏิบัติธรรมตลอดชีพ แต่ไม่อาจบวชพระหรือชีได้ มีความต้องการช่วยงานประเทศชาติด้วยความสามารถทางจิตพิเศษ ท่านให้จัดตั้งตำหนักธิดาเทพ เพื่อเป็นแบบอย่างให้ฆราวาสบำเพ็ญธรรมในครัวเรือนทั่วถึงกัน แต่ให้ตำหนักเหล่านี้อยู่ภายใต้พุทธศาสนา สนับสนุนส่งเสริมพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่สามารถตั้งเป็นศาสนาอื่นได้ และทรงตรวจสอบการสอนธรรมทุกตำหนัก ให้อยู่ในกรอบพุทธศาสนา ไม่บิดเบือนหรือเปลี่ยนแปลง ให้สอนธรรมตามระดับที่ตนพึงจะเข้าใจได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น