คัมภีร์มรณศาสตร์ – 018.วันที่ห้า

วันที่ห้า 

 
ในวันที่ห้ากรรมสกุลจักปรากฏตนขึ้น พร้อมกับคุณสมบัติใสสะอาดแห่งอากาศหรือสายลม แสงสาดส่องฉายฉานในที่นี้ได้แก่แสงสีเขียว เป็นสีแห่งความอิจฉาริษยาจากดินแดนแห่งกรรมที่สั่งสม พระอโฆสิทธิพุทธได้ปรากฏขึ้น กรรมสกุลนั้นข้องเกี่ยวกับการกระทำ ความสำเร็จ และประสิทธิภาพ ที่บังเกิดมีนั้นช่างทรงพลังและยากจะต้านทานได้ ดังนั้นมันจึงถูกมองว่าเป็นตัวทำลายล้างด้วยเช่นกัน พระอโฆสิทธิ หมายถึงการสำเร็จกิจทุกประการและบรรลุถึงอำนาจทั้งปวง 
 
พระอโฆสิทธิพุทธทรงถือวัชระไขว้ไว้ในมือ วัชระนั้นเป็นเครื่องหมายแห่งความสำเร็จในทุกขอบข่ายแห่งการกระทำ เป็นความแข็งกร้าว แข็งแกร่ง และไม่อาจขจัดทำลายได้ดังที่ได้เคยกล่าวถึงวัชรสกุล วัชระไขว้เป็นตัวแทนแห่งกิจการงานที่ได้รับการตรวจตราอย่างถี่ถ้วน เป็นการใส่ใจในทุกแง่มุม เป็นวัชระอันหลากสีสัน 
 
พระอโฆสิทธิพุทธจะทรงประทับนั่งอยู่บนชาง-ชาง อันเป็นสัตว์จำพวกครุฑ ครุฑประเภทนี้เชี่ยวชาญอย่างล้นเหลือในทางดุริยศาสตร์ ชาง-ชางจะถือฉิ่งไว้ในมือทั้งสองข้างขณะที่แบกพระอโฆสิทธิพุทธไว้บนหลัง ก่อให้เกิดภาพพจน์อันน่าเกรงขามและเป็นสัญลักษณ์ แห่งความสำเร็จในกาลทั้งปวง ชาง-ชางเป็นยอดแห่งวิหค เป็นวิหคชั้นสูงที่สามารถโผบินไปทั่วสากลจักรวาล บุกฝ่าไปทุกแห่งหน
 
ชายาประจำตัวของท่านนั้นได้แก่ สัมมายะ-ธารา เป็นเทพีแห่งถ้อยคำอันศักดิ์สิทธิ์ หรือในนามแห่งสัมมายวาจา ในพระสูตรแห่งตันตระ มีการตีความคำว่าสัมมายะแตกต่างกันไป ทว่าในกรณีดังกล่าวนี้ มันมีความหมายถึงความสมหวังอันเต็มเปี่ยมในสถานการณ์ขณะนั้น
 
พระโพธิสัตว์ที่ร่วมขบวนในกรรมสกุลนั้นได้แก่ วัชรปาณีหมายถึงผู้ทรงวัชระไว้ในฝ่ามือ เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงการธำรงไว้ซึ่งพละ กำลังอันมหาศาล ท่านทรงเป็นองค์คุณโพธิสัตว์แห่งพลังติดตามด้วยท่านศรวณี-วิศคันภิม ผู้ขจัดเสียซึ่งนิวรณ์ขวางอารมณ์หากนิวรณ์ เข้าครอบงำในระหว่างกระทำกรรม ซึ่งเกิดจากความเข้าใจผิดหรือความไม่สามารถสัมผัสกับปัจุบันขณะ ดังนั้นท่านจะเข้ามาขจัดล้าง นิวรณ์และเปี่ยมล้นด้วยอำนาจแห่งชัยชนะ
 
โพธิสัตว์สตรีแห่งกรรมสกุลนั้นได้แก่ คันธะ และไนเวทยะ คันธะเป็นเทวีแห่งน้ำปรุงเครื่องหอม นางถือหัวน้ำหอมที่ทำจากโอสถ สมุนไพรนานาชนิด อันแสดงถึงประสาทสัมผัส ในการประกอบกิจการอันเป็นกุศล คุณจำเป็นต้องมีประสาทสัมผัสอันฉับไว ส่วน ไนเวทยะนั้นเป็นผู้ประทานซึ่งอาหารหล่อเลี้ยง เป็นภักษาหารแห่งสมาธิภาวนาที่บำรุงเลี้ยงกิจการอันเชี่ยวชาญ 
 
กรรมสกุลนั้นอยู่เหนือสังขารปรุงแต่ง และเชื่อมโยงอยู่กับอสุรภูมิ อีกครั้งหนึ่งที่ภูมิปัญญาได้ทำการเผชิญหน้ากับความสับสนหรืออวิชชา และทั้งคู่ต่างก็ปองหมายในสิ่งเดียวกัน อันได้แก่การครอบครองกักขัง ทว่าภูมิปัญญานั้นครอบครองโอกาสความเป็นไปได้ทั้งปวง ในขณะ ที่ความสับสนครอบครองกระบวนการคับแคบในการจัดการกับปัญหา นั้นเป็นเพราะว่าภูมิปัญญาล้วนแจ่มชัดต่อหนทางขจัดปัญหา นั้นเป็น ไม่ว่าจะเป็นในแง่อัตวิสัย – สภาววิสัย การใช้พลกำลัง พื้นผิว อารมณ์ ความเข้มข้น ความเร่ง พื้นที่ว่างหรือสิ่งใด ๆ อื่น ในขณะที่ความสับสนแทบไม่เคยพัฒนาตนเองหรือแผ่ขยายแนวคิดหนทางใด ๆ เลย ความสับสนเป็น ปัญญาล้าหลังต่ำทราม ในขณะที่ความชาญฉลาดคือปัญญาที่พัฒนาถึงขีดสุดแล้ว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น